สื่อและการสื่อสาร ยุคโลกาภิวัตน์ ใช้ให้ดีและคุ้มค่าอย่างไร

0
1320

โลกกาภิวัตน์เป็นคำที่คุ้นหูเรามาสักพักใหญ่แล้วใช่ไหมคะ “โลกาภิวัตน์” เป็นการสร้างคำระหว่างคำว่า โลก + อภิวัตน์  หมายความว่า การแผ่ถึงกันทั่วโลก การแพร่กระจายไปทั่วโลก การที่ประชาคมโลกไม่ว่าจะอยู่ ณ จุดใด สามารถรับรู้ สัมพันธ์ หรือรับผลกระทบจากสิ่งที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วกว้างขวาง ซึ่งเนื่องมาจากการพัฒนาระบบสารสนเทศ และถ้าเป็นภาษาอังกฤษก็จะใช้คำว่า “Globalization” หากจะเข้ากันง่ายมากขึ้น โลกาภิวัตน์ คือการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลกยุคสมัยใหม่ในทุกๆด้าน ไม่ว่าจะเป็น วัฒนธรรม การเมือง เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และความคิด

ยุคโลกาภิวัตน์
ภาพจาก pixabay.com

สิ่งที่เราเห็นอย่างชัดเจนเกี่ยวกับโลกในยุคโลกาภิวัตน์ก็คงจะไม่พ้น ด้านการสื่อสาร เทคโนโลยีการสื่อสาร หากเราย้อนกลับไปสมัยก่อนๆ การที่เราจะเข้าถึงหนังสือภาษาอังกฤษสักเล่ม อย่าง นวนิยาย หนังสือสอนทำอาหาร หรือแม้แต่ตำราเรียน เราจำเป็นต้องไปหาที่ร้านหนังสือที่จำหน่ายหนังสือต่างประเทศโดยตรง และไม่ใช่ว่าจะมีหนังสือที่คุณต้องการวางจำหน่ายนะคะ หรือบางคนก็สั่งหนังสือจากเว็ปไซด์ต่างประเทศให้จัดส่งมาที่ไทย ซึ่งก็มีจำนวนจำกัด และมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ทำให้หนังสือบางเล่มมีราคาหลักพันเลยทีเดียว

แต่เมื่อโลกหันมาเชื่อมต่อกันด้วยเทคโนโลยีการสื่อสาร อย่าง อินเตอร์เน็ต ข้อมูลต่างๆก็สามารถเข้าถึงได้ง่าย สะดวก และมีราคาถูกลง หากเราต้องการอ่านหนังสือสักเล่มก็ไม่จำเป็นต้องสั่งมาเป็นเล่ม แต่คุณสามารถจ่ายเงินที่น้อยกว่าเพื่อซื้อหนังสืออิเล็กทรอนิคส์ ทำให้ชีวิตง่ายขึ้นและประหยัดอีกด้วย หรือแต่แม้การสืบหาข้อมูลในเรื่องต่างๆ เราก็ไม่จำเป็นต้องวิ่งเข้าห้องสมุดกันแล้ว เพียงนั่งหน้าจอคอมพิวเตอร์คุณก็จะได้ข้อมูลเป็นพันๆฉบับ จากทั่วโลก ซึ่งถือว่าเป็นด้านดีของการเข้าถึงข้อมูลที่ง่ายและกว้างขวางมากขึ้น การใช้เทคโนโลยีในยุคนี้จึงเป็นการใช้เพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์โดยแท้จริง

การสื่อสารแบบไร้พรมแดน (No Frontier) เป็นการพัฒนาด้านการสื่อสารของโลกครั้งใหญ่ ระบบสื่อโลกาภิวัตน์หรือสื่อโลก จะกระจายข้อมูลข่าวสารอย่างรวดเร็ว ในแบบทุกทิศทาง และยังมีกาตอบสนองต่อข้อมูลที่รวดเร็วนั้น อาจจะถือว่าเป็นข้อดีก็เป็นไปได้ เพราะเราสามารถรับทราบข้อมูลในอีกมุมโลกไปพร้อมกับประเทศอื่นๆในโลก ทำให้ได้ข้อมูลที่ทันสมัยอยู่ตลอดเวลา เราสามารถร่วมนับถอยหลังในวันขึ้นปีใหม่ไปพร้อมกับชาวลอนดอนก็ยังทำได้ หรือแม้แต่การร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับเหตุการณ์สำคัญทั่วโลกก็ทำได้ เช่น การลาสละราชสมบัติของสมเด็จพระจักพรรดอากิฮิโตะ แห่งญี่ปุ่น  เป็นต้น

แต่ในทางกลับกันหากข้อมูลที่ถูกเผยแพร่นั้นส่งผลต่อจิตใจอย่างรุนแรง หรือเป็นเรื่องที่อ่อนไหวต่อความรู้สึก เช่น เหตุการณ์ผู้ก่อการร้าย การฆ่าคนผิวดำ การกระทบกระทั่งกันเรื่องศาสนา ข้อมูลเหล่านี้ก็ส่งผลให้เกิดความไม่พอใจในกลุ่มคนบางกลุ่ม ซึ่งอาจก่อให้เกิดการรวมตัว การประท้วง การแก้แค้น หรือแม้แต่การลอกเลียนแบบก็จะเกิดได้ง่าย

การพัฒนาอย่างรวดเร็วของโลกสื่อสารในยุคโลกาภิวัตน์นั้น เราคือผู้เสพสื่อ เสพข้อมูล การใช้วิจารณญาณ การวิเคราะห์ กลั่นกรองข้อมูล ย่อมทำให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้อง แม่นยำ ซึ่งจะทำให้เราได้ประโยชน์มากกว่า ที่จะเพียงเชื่อมข้อมูลอย่างเดียว อย่างไรก็ตามเราทุกคนเป็นผู้ร่วมกำหนดทิศทางของโลก โลกจะไหลไปในทิศทางเดียวกัน ข้อมูลจะถูกแชร์และเข้าถึงได้มากและเจาะลึกมากขึ้น การพัฒนาต่างๆจะสอดคล้องกันทั่วโลก เช่น การรักษาสิ่งแวดล้อม เทคโนโลยีด้านต่างๆ พลังงานโซล่าเซลล์ การศึกษา การจ้าง เศรษฐกิจ การแพทย์ การทหาร อาหาร หรือแม้แต่วัฒนธรรมก็จะกลายเป็นวัฒนธรรมโลก ที่แต่ละประเทศจะคล้ายคลึงกัน

ยิ่งโลกพัฒนาไปมากเท่าไรมนุษย์ก็จะยิ่งเชื่อมต่อกันง่ายมากขึ้น เรียนรู้กันมากขึ้น และอาจถูกกลืนความเป็นตัวตนมากขึ้นอีกด้วย ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับเรา ผู้กำหนดโลก